เลิกจัดงานบอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ "ดีมั้ย?...." ตำน้ำพริกละลายเงิน..ไม่โปร่งใส..เพื่อใคร ?

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 20:30:41 น.




ภายหลังจากการเปิดตัวแถลงข่าวอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการดำเนินงานจัด"การแข่งขันฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์" ครั้งที่ 68 ที่อาคารจัตุรัส จามจุรี  ซึ่งถือเป็นงานประเพณีเก่าแก่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)ที่จัดสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น และดูจะยิ่งใหญ่อลังการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปีโดยเฉพาะทีมลีดเดอร์ กองเชียร์ การแปรอักษรต่าง ๆ รองจากงานแข่งขันกีฬาระดับชาติอยู่เพียงเล็กน้อย


 

 

 

การทุ่มเม็ดเงินมากมายในการจัดงาน และการโหมโรงโปรโมทงาน เพื่อมาประชันขันแข่งกันเกือบทุกปีอย่างยิ่งใหญ่ ได้ทำให้เกิดคำถามค้างคาใจมากมายให้กับนิสิตนักศึกษาบางกลุ่มบางคนพอสมควรทั้งในรั้วจุฬาฯ และมธ.เอง  จนทำให้“กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน”ต้องลุกขึ้นมาจัดเสวนาในหัวข้อ”เรายังจะจัดงานบอลกันอีกหรือ?”และนี่เป็นภาพสะท้อนจากนิสิตนักศึกษาส่วนหนึ่ง


@จัดบอลเชื่อมสามัคคีหรือชิงดีชิงเด่น

 

นายดิน  บัวแดง นิสิตคณะอักษรศาสตร์ ปี 3  และสมาชิกกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการพยายามไปค้นหาเอกสารต่าง ๆที่เกี่ยวกับการจัดงานฟุตบอลประเพณีฯ ทั้งที่จุฬาฯ และมธ. พบว่า การจัดงานบอลริเริ่มขึ้นปี พ.ศ.2477 เป็นการนำแนวคิดมาจากต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่ประเทศอังกฤษ  โดยกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่เคยเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบที่แยกไปอยู่จุฬาฯ และมธ.มีความต้องการเชื่อมความสัมพันธ์จุฬาฯกับมธ.  เพราะตอนนั้นมีการดูถูกกันระหว่างมธ.และจุฬาฯด้วยจึงอยากหากิจกรรมที่ทำร่วมกัน การจัดการแข่งขันฟุตบอลจะเป็นกิจกรรมส่วนตัวของนักศึกษา


 

 

ช่วงแรกที่จัดงานไม่มีการขยายผลใหญ่โต ไม่มีสแตนด์  ไม่มีอัฒจันทร์ ไม่มีขบวนพาเหรด ไม่ได้ลงข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์มากมาย ไม่ได้มีการใช้งบประมาณมากมายเท่ากับปัจจุบันนี้ ครั้งแรกจัดแข่งขันกันที่สนามหลวง แข่งขันเสร็จมีการเดินขบวนไปที่มหาวิทยาลัยของอีกฝ่าย เพื่อรับประทานอาหารร่วมกันเฉลิมฉลอง เพราะฉะนั้นการจัดช่วงแรกสามารถเชื่อมความสัมพันธ์ได้จริง ๆ และเป็นงานของนิสิตนักศึกษาจริง ๆ


มีการเก็บเงินค่าผ่านประตูนำไปช่วยการกุศล 2 ปีแรกนำไปช่วยเรื่องการปราบวัณโรค สร้างที่พักให้ผู้ป่วยวัณโรค มีการบำรุงการศึกษา 2 สถาบัน ปี 2485 มีการงดจัดงาน เพราะเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ นิสิตนักศึกษามีวิจารณญาณกันว่า น้ำท่วมใหญ่อย่าจัดกันดีกว่า เพราะคงลำบากหากมีการแข่งขันฟุตบอลกันในช่วงนั้น


ปี 2479 เริ่มมีเชียร์ลีดเดอร์ป็นผู้ชายให้จังหวะปรบมือ ปี 2485 เริ่มมีขบวนพาเหรดล้อการเมือง บางช่วงมีการปิดกั้นเสรีภาพ นักศึกษาสามารถใช้พื้นที่ตรงนี้ในการล้อการเมืองได้ ทศวรรษที่ 2500 ช่วงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีการจัดงานฟุตบอลประเพณีเริ่มกลายเป็นงานระดับชาติ จัดใหญ่โตหรูหรามากขึ้น ปี 2501 เริ่มมีแปรอักษร ปี 2508 เริ่มมีเชียร์ลีดเดอร์ผู้หญิง


ปี 2500-2516 ช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 “กลุ่มสภาหน้าโดม” เช่น  จรัล ดิษฐาอภิชัย ,สุชาติ สวัสดิ์ศรี ,อนุช  อาภาภิรม, พิภพ ธงไชย ,วิทยากร เชียงกูล ,ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ของมธ.เริ่มมีการเคลื่อนไหวต่อต้านงานฟุตบอลประเพณีอย่างเป็นรูปธรรม มีการพิมพ์หนังสือไปแจกจ่าย

 


โดย ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์”สภาหน้าโดม”บอกว่า  “เราไม่เห็นด้วยกับฟุตบอลประเพณี แม้เสียงของเราจะไม่ดังเท่าเสียงแหกปากตะโกนของบรรดาผู้สนับสนุนที่ตะโกนตั้งแต่เช้ามืดยันสว่าง และเที่ยงตะโกนทั่วนครหลวง แต่เชื่อว่าเสียงของเรามีเหตุผล เป็นเสียงของคนกลุ่มน้อยที่ไม่สามารถทนการกระทำบ้า ๆ บอ ๆ ของนักศึกษาจุฬาฯ-มธ.ในงานประเพณีฟุตบอลได้”

 

ยกตัวอย่างคำวิจารณ์เช่นผิดวัตถุประสงค์แทนที่จะสามัคคีกัน กลับทำให้ชิงดีชิงเด่นกันมากกว่า เกิดเป็นสถาบันนิยม ฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็น ไม่มีสาระ ไม่คุ้มกับการลงทุน การล้อการเมืองเป็นเพียงการเสียดสี เหน็บแนม สะเปะสะปะ ไม่มีเหตุผล ไม่มีรูปธรรมทางการเมือง และไม่ได้รับความสนใจจากพวกนักการเมือง พวกชนชั้นนำ กลายเป็นสนามการค้าสำหรับพวกบริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ที่จะมาลงทุน มายุ่มย่ามกับกิจกรรมของนิสิตนักศึกษามากเกินไป

 

ปี 2516-2519 เลยงดการจัดงานฟุตบอลประเพณี เดือนมกราคม 2519 มีการรื้อฟื้นงานฟุตบอลประเพณีขึ้นมาใหม่  เพื่อเปลี่ยนให้เนื้อหาสาระรับใช้ประชาชนมากขึ้น ลดความฟุ่มเฟือย เพื่อเพิ่มการบำเพ็ญประโยชน์มากขึ้น


ตั้งแต่ปี 2519 รายได้จากการจัดงานฟุตบอล จะโดยเสด็จพระราชกุศลตลอด

 

ปี 2534 มีการเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับงานบอล ต้องการปฏิรูปงานบอลที่ฟุ่มเฟือยเกินไป นักศึกษากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีบทบาทในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 อบจ.ชุดนั้นส่วนใหญ่ลงมติไม่จัดงานบอล แต่มีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่มีส่วนร่วมกับงานบอลในปีนั้น

 

ปี 2541 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้การจัดงานล่าช้าออกไป แต่สุดท้ายมีการจัดงานขึ้น แต่แนวคิดของงานเน้นการประหยัด ปี 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ และเกิดวิกฤตทางการเมือง แต่จัดงานบอลในปี 2555 แม้จะต้องเลื่อนการจัดออกมา

 

@ตำน้ำพริกละลายงบแบบไม่โปร่งใสเพื่อใคร?

 

นายรักษ์ชาติ์  วงศ์อธิชาติ  นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ปี 3 และอุปนายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.)  กล่าวว่า  ขอออกตัวว่า มาพูดในนามส่วนตัวไม่ใช่มติของอมธ.งานฟุตบอลประเพณีถูกสานต่อจากรุ่นสู่รุ่น โดยการอุปภัมภ์ค้ำชูจากนักศึกษารุ่นพี่ ๆ ช่วยกันดำรงไว้ ซึ่งความเป็นประเพณี แต่เมื่อมาถึงมาจุดหนึ่ง คงต้องมาพิจารณาว่า เจตนารมณ์แห่งความสามัคคีอันเป็นรากฐานของงานบอลยังคงเข้มแข็งอยู่อีกหรือไม่ คงต้องมาตั้งคำถามกัน ทุกย่างก้าวของงานบอลที่จะเกิดขึ้น นักศึกษาผู้สืบทอดควรหันกลับมาทบทวนทิศทาง เจตนารมย์ และความถูกต้องความเหมาะสมของงานบอลได้แล้ว ก่อนที่ทุกอย่างจะเน่าเฟะไปมากกว่านี้ ควรต้องมานั่งตระหนักกันว่า สิ่งที่เรากำลังทำเหมือนยุคสายลมแสงแดด ที่เราต้องอยู่ภายใต้ภาพมายา โดยไม่ได้มองความเป็นจริงของสังคม


 

เป้าหมายของงานบอลคือ ไม่ได้เชียร์ฟุตบอล นักฟุตบอลส่วนใหญ่ที่มาเล่นไม่ได้เรียนที่มธ. และจุฬาฯจ้างมาเตะ เราคงต้องมาดูว่า เป้าหมายจริง ๆ ของการจัดงานคืออะไร ไม่ได้สร้างความสามัคคีของ 2 สถาบันอีกต่อไป ขบวนพาเหรด และกองเชียร์ของทั้ง 2 สถาบันก็ประชดประชันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย แข่งกันว่าใครจะขึ้นสแตนด์ได้ก่อนกัน ของแจกใครดีกว่ากัน การแปรอักษรใครเสียดสีได้เจ็งกว่ากัน


ค่าใช้จ่ายในการจัดงานบอลค่อนข้างคลุมเครือ ไม่มีการชี้แจงอย่างโปร่งใส ไปถามฝ่ายจัดกิจกรรมนักศึกษาด้วยตัวเองเลยว่า งานบอลใช้งบประมาณเท่าไหร่ก็ไม่ได้คำตอบที่แน่ชัดเป็นตัวเลข ไปสอบถามรุ่นเก่า ๆ ที่เคยจัดงานบอลของมธ.ก็บอกประมาณ 10 ล้านบาท และได้ยินมาว่า ทางจุฬาฯก็ได้อีก 10 ล้านบาท ซึ่งผมไม่แน่ใจตัวเลขที่แท้จริง

 

ผู้จัดกิจกรรมนักศึกษาบอกว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดงานบอล ก็แล้วแต่คณะไหนอยากได้เท่าไหร่ก็ขอไปส่วนใหญ่ขอค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ทางอมธ.ผมได้ยินมาว่า ได้ประมาณ 62,000 บาทผมไม่แน่ใจตัวเลขที่แท้จริงได้เท่าไหร่ เพราะผมไม่คิดว่า ตัวเลข 62,000 บาทเป็นตัวเลขที่แน่นอน มันต้องเป็นตัวเลขที่มากกว่านั้นในการจัดงานบอลที่ใหญ่ขนาดนี้

 

ตัวเลขที่น่าสนใจคือ ความคุ้มค่าปัจจุบันเทียบกับความอลังการ ได้ผลลัพธ์เป็นอะไร ความสามัคคีหรือเปล่า ซึ่งความสามัคคีเกิดจากการบังคับกัน ซึ่งผมมองว่า เป็นผลพ่วงจากการหว่านล้อมด้วยระบบโซตัส ในการรับน้อง พวกที่ผ่านการรับน้อง ทีมเชียร์ถูกป้อนความคิดแบบคณะนิยม สถาบันนิยม มีกษัตริย์นิยมเข้าไปด้วย สุดท้ายแล้วมาลงเอ่ยด้วยความภาคภูมิใจแบบรวบยอดด้วยงานฟุตบอลประเพณี


“ประวัติงานบอลช่วงปี2500-2519 มีความน่าสนใจมาก วัตถุประสงค์ของงานบอลจริง ๆ  เลียนแบบสถาบันปัญญาชนที่มีการแข่งกีฬากันคือ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกับมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ของอังกฤษ และมหาวิทยาลัยเยลกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐอเมริกา 2 สถาบันชั้นนำของประเทศไทยจึงอยากจัดบ้าง และมีค่านิยมฝังรากลึกมาหลายศตวรรษว่า ทั้ง 2 สถาบันมีการแข่งขันกันมาเกรงว่า เลือดรักสถาบันจะรุนแรงจนขาดความสามัคคี จึงร่วมกันหากิจกรรม เพื่อส่งเสริมความกลมเกลียว”


 

ดร.สุรพล สุดารา อดีตประธานเชียร์จุฬาฯ ปี 2503 เคยเขียนบทความไว้เรื่องหนึ่งชื่อ “ฟุตบอลประเพณี  เลิกดีมั้ย”ปี 2503 มีการพูดถึงประเด็นว่า การแสดงออกในการร่วมมือจัดฟุตบอลประเพณีเท่ากับเป็นการพิสูจน์ให้ประชาชนได้เห็นความสามัคคีระหว่างผู้ที่จะต้องไปใช้สมองร่วมกันรับใช้ประเทศชาติต่อไปในอนาคตเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หากจะพูดแต่ปากแต่ไม่เคยแสดงออกให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วทำได้ ก็ยากที่จะทำให้เกิดความมั่นใจในการพิจารณาว่า ฟุ่มเฟือยหรือไม่ ต้องคิดว่าการลงทุนไปนั้นคุ้มหรือไม่

 

การจะทำให้ประชาชนสนใจฟุตบอลประเพณีจึงต้องมีการลงทุน เพื่อให้ได้มาตรฐานที่ดีให้สมกับเป็นระดับมหาวิทยาลัยทำ และย่อมใช้สมองคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ  ซึ่งดร.สุรพลบอกว่า นี่คือ จุดประสงค์ที่แท้จริงของงานบอล และบอกว่า แนวคิดเริ่มแรกจากการลงทุนที่คุ้มค่า แต่ถามว่าปัจจุบันคุ้มค่าจริงหรือไม่ โดยเฉพาะเวลาเราพูดถึงเรื่องความคุ้มค่า

 

“ผมอยากถามว่า มีใครบ้างอยากมานั่งตากแดด เพื่อชูป้าย เปลี่ยนเพลทไปเรื่อย ๆ คือ ถ้าไม่ถูกปลูกฝังอะไรกันขนาดนั้นก็ไม่มีใครทำ ผมว่าคนอยู่ดี ๆ คงไม่อยากมานั่งเปลี่ยนเพลทเล่น ๆ คือ ผมไม่ได้บอกว่า สิ่งนี้มันผิด แต่ผมบอกว่า  คุณเป็นปัญญาชนระดับนี้แล้ว มันสมองระดับปริญญาไปคิดอะไรอย่างอื่นได้อีก มากกว่าการซ้อมเปลี่ยนกระดาษดึกดื่น เที่ยงคืนตีหนึ่ง หรือการซ้อมร้องเพลงมหาวิทยาลัยให้พร้อมเพรียงกัน ผมว่า มันโคตรไร้สาระเลยกับการทำอย่างนี้”

 

นอกจากทรัพยากรที่เป็นตัวเงินแล้ว ทรัพยากรมนุษย์ก็สิ้นเปลือง หรือบอกว่าเป็นการสะท้อนภาพนักศึกษาต่อระบบการเมือง ผมก็ว่าไม่ใช่ ในสมัยก่อนอาจจะใช่ว่า เรามีขบวนพาเหรดล้อเลียนการเมือง แต่พอรุ่นหลัง ๆ มาก็ไม่มีภาพสะท้อนทางการเมืองอะไรมากมาย เฉพาะในปีนี้ผมได้ยินมาว่า ขบวนพาเหรดถูกสั่งห้าม ไม่ให้พูดถึงเรื่องมาตรา112 หรือประเด็นสถาบัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ ซึ่งถ้าทำอย่างนี้ก็ไม่ได้เป็นการบอกว่า เป็นขบวนพาเหรดที่สะท้อนภาพการเมืองสังคมที่แท้จริง ก็ไม่เป็นอิสระ


อ.สุขุม  นวลสกุล เคยใช้ชีวิตเป็นนักศึกษา มธ.ในช่วงนี้ปี 2503 ได้เล่าบรรยากาศว่า งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-มธ.เป็นวันที่พวกเราคิดกันเองว่า สำคัญ มีการเตรียมงานกันต่าง ๆ นานา และเปลืองที่สุด กลายเป็นมหกรรมบันเทิง มีแนวโน้มของการแข่งขันสร้างความยิ่งใหญ่ และความหรูหรางดงามตระการตา ความสนุกสนานระหว่าง 2 สถาบัน”อันนี้สะท้อนว่า เราไม่มีอิสระในการจัดงานบอลอย่างแท้จริง

 

ปี 2514 ที่มีกระแสคัดค้านจาก”กลุ่มสภาหน้าโดม”ของมธ.ที่ออกแถลงการณ์คัดค้านมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของงานบอลจากรูปแบบขบวนพาเหรดที่เน้นความหรูหราฟุ่มเฟือยถูกปรับเปลี่ยนสู่ยุคใหม่ภาพพจน์เก่า ๆ ถูกปรับปรุงแก้ไข ลดความฟุ่มเฟือง ทั้งเรื่องการเชียร์ การแปรอักษรลง แต่เพิ่มสีสันในการแสดงออกทางความคิดเพิ่มมากขึ้น การคำนึงถึงประเพณีเก่าแก่ วัตถุประสงค์ของงานบอลมีมากขึ้น

 

สุดท้ายแล้วงานบอลหลังปี 2500 รูปแบบของงานบอลมาพร้อมกับอุดมการณ์ที่ครอบงำในช่วงการเมืองในขณะนั้น ความคิดฟุ่มเฟือยเรื่องานบอลที่ถูกจุดติดในสมัยรัฐบาลเผด็จการมาแล้ว เราต้องมานั่งคิดแล้วว่า ยุคนี้เป็นยุคอะไร เราจะย้อนกลับไปยุคฟุ่งเฟ้อ ด้วยภาพมายาที่รัฐบาลกลุ่มเผด็จการทำขึ้นอย่างนั้นหรือ กลับไปสู่ยุคฟุ่มเฟือย ไม่มีอิสระทางความคิด ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ต่างจากยุคนั้นเท่าไหร่ ยุคที่รัฐบาลครอบงำความคิดของนักศึกษาในการพูดถึงเรื่องการเมืองในขบวนพาเหรด ผมจึงไม่รู้ว่า ขบวนพาเหรดสะท้อนภาพการเมืองสังคมอะไรได้ เพราะถ้าไม่มีการพูดถึงมาตรา 112 ในขบวนพาเหรด ก็ไม่ได้สะท้อนภาพสังคมจริง ๆ


@ฟุตบอลประเพณีหรือ"เดอะสตาร์"ค้นคว้าคว้าดาวปีที่ 68

 

นายกิตติพัฒน์  มณีใหญ่ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ ปี 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีวาทกรรมที่เกิดขึ้นจากโปสเตอร์ที่ผู้จัดงานทำออกไป หลายคนมองว่า พวกเราจะล้มงานฟุตบอลประเพณี คำว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไม่ได้หมายความว่า เราจะล้มการจัดงานฟุตบอลประเพณี แต่ผมรู้สึกว่าการจัดงานไม่โปร่งใส เรื่องงบประมาณ พวกผมพยายามหางบประมาณงานบอลมาพูดกัน แต่ผมไม่เคยเห็นสำเนาเอกสารเกี่ยวกับการเงินงานบอล ได้ยินแต่การพูดของศิษย์เก่าที่ทำงานในอบจ. อมธ.ว่าใช้เงินอย่างต่ำ 10 ล้านบาท เงิน 10 ล้านบาทสามารถทำอะไรได้มาก

 

 

อย่างทุกวันนี้เรียนหนังสือกัน ตำราเรียนของพวกเรา โดยเฉพาะคณะอักษรศาสตร์ตำราเรียนส่วนมากถ่ายเอกสารมาทั้งนั้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เราละเมิดลิขสิทธิ์ไปขโมยผลงานวิชาการของคนอื่นมาโดยไม่รู้ตัว แทนที่เราจะนำเงิน 10 ล้านบาทมาเป็นกองทุนให้นิสิตนักศึกษา เพื่อซื้อตำราเรียน เราส่งเสริมความเป็นอารยะส่งเสริมการมีวิชาการอย่างมีคุณภาพไม่ดีกว่าหรือ


"เราควรต้องกลับมาถามว่า จุดมุ่งหมายของงานบอลอยู่ที่อะไร ยังอยู่ที่การแข่งขันฟุตบอลหรือเรามาดูเดอะสตาร์ ผมอึดอัดมากตั้งแต่ขึ้นบนสแตน ผมอยากขึ้นไปแปรอักษรสักครั้งในชีวิต ในใจผมอยากดูบอล สุดท้ายเขายัดเยียดลีด ตัวแทนนิสิตมาให้ผมดูการโชว์ตลอด จนกระทั่งผมอยู่ปี 2 ผมรู้จักนักกีฬาฟุตบอลคนเดียว คือ ลีซอ ผมรู้จักเพราะเป็นนักฟุตบอลทีมชาติไทย ไม่ใช่เรียนอยู่จุฬาฯ นอกนั้นผมไม่รู้จักเลย ทางฝั่งมธ.ก็ไม่รู้จัก ทั้งที่เราพูดอยู่ว่า งานฟุตบอลประเพณีทำไมเราไม่มีนักฟุตบอลที่เป็๋นนักศึกษา มีแต่เน้นกลุ่มกองเชียร์ขึ้นมาเหมือนเป็นดารา ทั้งที่พูดว่า งานฟุตบอลประเพณี ทำไมไม่พูดถึงฟุตบอลเลย"

 

นอกจากนี้ ต้องมาพิจารณาถึงจุดมุ่งหมายการสามัคคีของสถาบัน แต่ที่ผ่านมากำลังเป็นการชิงดีชิงเด่นกันระหว่าง 2 สถาบัน มาร้องเพลงเชียร์แข่งกัน  เรากำลังมาหาอะไรแข่งขันของ 2 สถาบันนี้ เพราะฉะนั้นคงต้องมาพิจารณาแล้วว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดของการจัดงานฟุตบอลประเพณีคืออะไร และจุดมุ่งหมายสูงสุดของ 2 สถาบันนี้คืออะไร คือ กำลังผลิตดารา เพื่อให้คนกลุ่มนี้ออกมาเป็นดาราสู่สังคมหรือไม่

ทุกวันนี้จุดมุ่งหมายจะฝึกนักศึกษามาข่มกันหรือออกมาสามัคคีกัน เมื่อก่อนมี 2 สถาบัน อย่าลืมจุดประสงค์ของงานบอลคืออะไร และจุดประสงค์ของการสร้างบัณฑิตของ 2 มหาวิทยาลัยคืออะไร ถ้าหาคำตอบได้ก็กลับมาจัดงานบอลได้เหมือนเดิม


"ตั้งแต่ผมเหยียบเข้ามาในรั้วจุฬาตั้งแต่สอบแอดมิชชั่นได้ใหม่ๆทำไมงานรับน้องก้าวใหม่งานแรกพบ จะต้องมีกลุ่มหนึ่งออกมาทำท่าลีดให้ดู กลุ่มหนึ่งต้องออกมาควงคฑาให้ดู กลุ่มหนึ่งมายืนสวัสดิ์ดีให้ดู เดินทุกคณะ ผมเห็นแล้วคิดว่า เขาคือใครกัน  ผมคิดว่า ถ้าเราจะดันกลุ่มนี้ขึ้นมาเป็นกลุ่มขายหน้าตาของงานบอล ผมรู้สึกว่า ผมไปดูคอนเสิร์ต AF ก็ได้ ผมรู้สึกว่า ถ้าจะขายหน้าตาไม่ต้องมาจุฬาฯก็ได้"

 

ถ้าทางมหาวิทยาลัยจะผลักดันกลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มผลักดันทางสังคมของมหาวิทยาลัยด้วยการขายหน้าตาผมคิดว่าเราเข้ามาจุฬาเพื่ออะไรทุกวันนี้ผมอยู่จุฬาเห็นแล้วรู้สึกว่า ผมไม่เคยภาคภูมิใจกับศิษย์เก่าที่เป็นนักวิชาการ ผมไม่เคยภาคภูมิใจกับศิษย์เก่าที่จบออกไปเป็นผู้ขับดันทางสังคม เป็นนักปรัชญา เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นนักเรียกร้องสิทธิมนุษยชน แต่ผมกำลังภาคภูมิใจว่า รุ่นพี่ศิษย์เก่าของจุฬาไปเป็นดาราได้กี่คน หรือจบไปเป็นนักร้องออกอัลบั้มได้กี่แพลง ค่ายเพลงไหน ออกมาเมื่อไหร่ ผมจึงไม่รู้ว่าทุกวันนี้ที่ผมอยู่จุฬาฯ ผมนึกว่าผมอยู่รายการเดอะ สตาร์ค้นคว้าคว้าดาวปีที่ 68

 


 

















นศ.ขอบ่น! ไม่ไหวจะเคลียร์กับ "ความสกปรกของโรงอาหาร ม.ดังท่าพระจันทร์"
นายทหารผ่านศึกนอกราชการแต่งเต็มยศ บุกทำเนียบร้อง"บิ๊กตู่" ช่วยปลดหนี้ 3 แสนบาท
ตากล้องรัวชัตเตอร์ ช็อตเด็ด "อั้ม" ควง "สรยุทธ" เข้างาน
ฮือฮา ชมปรากฎการณ์ธรรมชาติ "ปูแดงย้ายถิ่นฐาน" กว่า 120 ล้านตัว แห่เดินทัพบนท้องถนน (ชมคลิป)
มือใครกัน? อยู่ตรงหน้าอกของ "ซาร่า มาลากุล"
เซ็กซี่เว่อร์ "หยาด" พกความอึ๋มเต็มพิกัดขึ้นปก FHM
คู่รักจีนถ่ายพรีเวดดิ้ง "เปลือย" ท่ามกลางธรรมชาติ ฉากเดียวกับหนังดัง "อวตาร"
"เมญ่า-นนธวรรณ" ติด 5 อันดับตัวเต็ง "มิสเวิลด์ 2014"
อายุต่างไม่ใช่ปัญหา "ซันนี่ ยูโฟร์" เปิดตัวเเฟนหนุ่มรุ่นน้อง ฟุ้งคนนี้รักจริงหวังเเต่ง!!
ยิ่งกว่านิยาย "สีดา พัวพิมล" ชีวิตรันทดกับการต่อสู้คดีฉ้อโกง-เสิร์ฟอาหารเเลกข้าวกิน
อ่านด่วน! "สถานทูตไทย ณ กรุงโตเกียว" แบ่งปัน 10 ข้อควรรู้เมื่อไปเที่ยวญี่ปุ่น
ปราปต์ บุนปาน : ความผันแปร ของร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งหนึ่ง
"ทักษิณ ชินวัตร" เมื่อหายไปจากสื่อ
(ทำไม?) นักวิชาการเชียร์ เลือกตั้งแบบเยอรมนี
พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก : ข้าว น้ำ สายลม และแสงแดด ในสยามเมื่อ 300 กว่าปีที่แล้ว